คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2554

ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 และ 335 นั้น เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญา และเป็นละเมิดในทางแพ่ง ผู้ที่ลักทรัพย์ไปต้องคืนหรือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย

การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส. โดยทุจริต แม้ ส. จะเป็นผู้ที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้แย่งการครอบครองไปจาก ส. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานรับของโจรไม่

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (เดิม) วางโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย จำเลยมิได้กระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ จำเลยฎีกาประการแรกว่า มิได้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรนั้น เห็นว่า นายสุทธิพรยืนยันว่าไม่ยินยอมให้จำเลยกับพวกเอารถจักรยานยนต์ไป คำเบิกความของนายสุทธิพรสมเหตุผลเพราะนายสุทธิพรลักทรัพย์รถจักรยานยนต์เพื่อไปขับแข่ง แต่ยังไม่ทันขับแข่งตามความประสงค์ก็ถูกเอาไป จึงเชื่อว่าจำเลยกับพวกแย่งการครอบครองรถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพร การที่จำเลยร่วมเดินทางไปกับนายอรรถสิทธิ์และนายท็อป แม้นายอรรถสิทธิ์จะเป็นผู้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรขับเป็นคนแรก แต่ต่อมาในวันเดียวกันในเวลาไม่นานนักจำเลยก็นำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปขับ และครอบครองตลอดมาจนเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถจักรยานยนต์ เป็นเวลาหลังจากเอาไปแล้วเกือบ 8 เดือน หากจำเลยมิได้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพร แต่ขอยืมจากนายอรรถสิทธิ์จริง จำเลยก็ควรคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่นายอรรถสิทธิ์หรือไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ แม้จะมีการแต่งรถเพื่อแข่งจริงก็ตาม จำเลยก็แจ้งได้ว่ามิได้เป็นผู้ดัดแปลงรถจักรยานยนต์ มิใช่ครอบครองและใช้ตลอดมา โดยถอดแผ่นป้ายทะเบียนออก ซึ่งถือเป็นข้อพิรุธแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ของจำเลยประการหนึ่งเพราะรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจดทะเบียนและมีแผ่นป้ายทะเบียนแล้ว และติดแผ่นป้ายทะเบียนอยู่ในขณะที่จำเลยเอาไป ที่จำเลยอ้างว่าเพื่อนของจำเลยเป็นคนถอดแผ่นป้ายออกนั้น ก็เป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่ปรากฏว่าเพื่อนจำเลยคนใดเป็นคนถอดออก จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ถอดแผ่นป้ายทะเบียนออกเอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยนายสุทธิพรไม่ยินยอม จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต คงมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญาและละเมิดในทางแพ่ง เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา กฎหมายให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายด้วย หากพนักงานอัยการไม่เรียกให้ ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องทางแพ่งจากผู้ที่ลักทรัพย์ไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43,44 และ 45 เพื่อให้ผู้ลักทรัพย์คืนทรัพย์สินที่ลักไปพร้อมค่าเสียหาย หากไม่สามารถคืนได้อาจเป็นเพราะทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายเสียหายไปจนใช้การไม่ได้ ผู้ที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ดังนั้นผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหายเพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็จะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยทุจริต แม้เป็นการเอาไปจากการครอบครองของนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ คงมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด หาได้สำนึกในการกระทำแต่อย่างใด การที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็นต้องกันที่ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม และลดโทษให้อีกหนึ่งในสามนับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่